วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความเคลื่อนไหวบนหลังแป

เก็บผักหวาน ๒ วันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวของชาว "รสทป"ที่ออกลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงซึ่งเกิดไฟป่าทุกปีที่มีแนวพิกัดตามเส้นทาง"หมาเห่าฟ้าผาแงบ ลม" ส่วนหัวข้อว่า"เก็บผักหวาน ๒"จั่วเอาไว้เพื่อให้มองเห็นว่าผืนป่าเขาสวนกวางมีแหล่งอาหารทุกฤดูกาล...และได้มาปรุงอาหารได้อิ่มหนำกันทุกครั้ง
       ภาพที่นำเสนออาจไม่ชัดเจนแต่ก็เสนอให้ได้หลากหลาย
          วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ สมาชิกจากศูนย์ส่งเสริมการป้องกันไฟป่า ประกอบด้วย เคนน้อย นุศิลป์ สุวรรณ จ่อย(ดำรงศักดิ์ กับคุณนาย)คุณติ่งพร้อมด้วยผมได้มุ่งหน้าไปที่จุดสุ่มเสี่ยงการเกิดไฟป่าที่"หัวคูขาด" ที่ตรงนั้นมี"หญ้าเพ็ก"ปูเป็นพรมเขียวในหน้าฝนและพรมสีฟางแห้งในหน้าแล้งให้ไม้เต็งรังนับจำนวนไม่ถ้วนขึ้นอยู่อย่างเดียระดาษเต็มพื้นที่ ท่านผู้อ่านลองนึกภาพลองดูครับ หากมีผู้ไม่หวังดีหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จุดไม้ขีดก้านเดียวแล้ววางไป อะไรจะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากไฟป่าที่รุนแรง เผาผลาญต้นไม้ในป่านั้นกรอบเหลืองและดำเป็นเถ้าถ่านแน่ เสร็จภารกิจพวกเรามุ่งสู่ป่า"ดงดิบ" ลักษระป่าดิบแล้ง แยกไปสองสาย สายแรกซึ่งประกอบด้วย "เคนน้อย"และ"นุศิลป์"แยกไปที่หลุบป่าซางและนัดพบกันที่"ถ้ำไฮ" สายที่สอง ประกอบด้วยผม(ครูคำมี) ดำรงค์ศักดิ์และคุณนาย สุวรรณ  และแม่ติ่ง แยกเข้าป่าบริเวณหัวภูขาด บ่ายโมงแก่ๆ ทั้งสองสายพบกันได้ผักหวานเต็มถุง และแวะเก็บผักติ้งข้างทางอีก...เยอะมาก ๆ ขี้เกียรจแต่จะเก็บ
               ก่อนถึงเวลานัดหมาย สายที่สอง เดินเข้าอีกดงหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้ หรือ แกล้งจำไม่ได้ เดี๋ยวใครจะรู้เข้า) มีผักหวานบ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เบนความสนใจเราออกไปนั่นคือ เถาวัลย์ชื่อ"บันไดลิง" สวยงามมาก มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ชนิดไต่เป็นบันไดคนได้...ยอมรับว่าภูเขาสวนกวางมีระบบนิเวศที่หลากหลายจริง
              หลังรับประทานอาหารเที่ยงเสร็จ พักผ่อนเอาแรงกันตามสมควร  สมาชิกก็ก่อตัวกันเป็นคณะอีกคณะหนึ่ง ตั้งวัตถุประสงค์ร่วมกันว่า จะออกเดินทดสอบกำลังขากันให้ได้ระยะทางไม่น้อยกว่า ๓ กิโลเมตร จากหลังแปแวะลงหุบเหวปีนป่ายไปตามโขดหินเหนือล่องน้ำ(มีน้ำไหลตลอดปี...หนวกหูเสียงน้ำตก ต้องใช้สำลีอุดรูหู...ไม่โม้เท่าไรนะ มีความจริงค่อนข้างมากอยู่) ผ่านป่าตะแบก ป่ากล้วยลิง ข้ามลำธารไปมา กะจะไปโผล่ที่ "ป่าชาหนวดฤๅษี โพนเหม่น หม้อขาวหม้อแกงลิง"
            สิ่งที่ได้
            ๑. ได้กำหนดพื้นที่สร้างฝายชลอน้ำ ฝายที่ ๒ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้สัตว์  (ตรงนี้ผมขอขยายความหน่อย...คือว่า เมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำเขาสวนกวางขึ้นที่หุบเขาระหว่างหลังแปกับเนินตรงข้าม ปีนี้ปีเดียวเรามีน้ำเก็บเกินพิกัดที่จัดเก็บ...ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร น้ำที่เหลือไหลเอ่อลงไปเป็นน้ำตก...ที่ขังอยู่ในอ่างส่วนหนึ่งเป็นน้ำต้นทุนที่ซึมซับออกมาเป็นน้ำซับ เป็นน้ำตกขนาดย่อม(ๆๆๆ) ไหลลงเบื้องล่าง ให้ความชุมชื้นแก่พื้นดิน พืช และสัตว์ ชาว รสทป. ได้กั้นฝายตัวแรก ทำให้มีบ่อนำขนาดใหญ่กักน้ำไว้ให้ดิน คน สัตว์ และพืช...ที่เเหลือก็ไหลล้นต่อไปเรื่อยๆ มีปลายทางที่วัดตาดฟ้าเขาสวนกวาง...นับเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ขอคุณรัฐบาลโดย ท่าน รมต.ทส.คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ที่จัดสรรงบมาให้) ดูภาพประกอบนะครับ



ภาพ ๑ อ่างเก็บน้ำด้านบน ภาพ ๔ พื้นที่สร้างฝายชลอน้ำ แห่งที่ ๒
ภาพที่ ๓ ฝายชลอน้ำแห่งแรก และ ภาพ ๒ น้ำกลางป่า ที่เกิดจากอ่างเก็บน้ำ แห่งจากแหล่งกำเนิด ๒ กิโลเมตร
            ๒. ได้เดินสำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า พบว่ามีบางส่วนที่มีต้นหญ้าแห้งขึ้นปะปนกับ ต้นชาหน่วดฤๅษี หม้อแกงลิง หากเกิดไฟป่าจะนำความสูญเสียกับระบบนิเวศ ซึ่งมีพืชที่น่าสนใจ นอกจากที่กล่าวแล้ว เช่น รูปหัวใจ เอนอ้า เป็นต้น







ไม่มีความคิดเห็น: